COLUMNIST

FIT (Feed-in Tariff) กับบทเรียนที่ล้มเหลวในยุโรป
POSTED ON -


 

สงครามทางความคิดที่ว่า อัตราส่งเสริมสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้ภาครัฐจากพลังงานทดแทนแบบใดเหมาะสมและยั่งยืน สำหรับภาครัฐของประเทศไทยนำโดย สนพ. (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) ยืนยันจะให้ใช้แบบ FIT (Feed-in Tariff) เนื่องจากเกรงว่าเอกชนที่ลงทุนจะมีกำไรมาก หากค่าไฟฟ้าในอนาคตสูงขึ้น ด้านเอกชนผู้มีอาชีพผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนก็ยืนยันว่า ต้องการให้รัฐบาลใช้แบบ Adder ที่เคยได้ผลดีมาตลอดของไทย ซึ่งในระยะยาวราคาไฟฟ้าจะผันแปรตามราคาตลาด ในความเป็นจริงแล้วไม่มีสินค้าใดจะมีราคาเท่ากันตลอด 20 ปี ดังนั้น หากใช้ FIT จึงเป็นการบิดเบือนราคาตลาด ดังตัวอย่างความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในยุโรปก็น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับประเทศไทย

 

ก่อนที่สงครามจะจบลงด้วยนโยบายของภาครัฐที่มีอำนาจเหนือภาคเอกชนก็เกิดการยุบสภาฯ และบ้านเมืองเข้าสู่การปฏิรูป โดย "พลังงาน" คือปัญหาแรกๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมา จึงขอสะท้อนถึงปัญหาของพลังงานทดแทนจากการผลิตไฟฟ้า ดังนี้

 

1. อัตราส่งเสริมการจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของประเทศอยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่คน มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นพิธี แต่ไม่มีการแก้ปัญหาใดๆ หลังการรับฟัง

 

2. กระทรวงพลังงานใช้ปริมาณไฟฟ้าที่ภาคเอกชนเสนอขายมาชี้แจงความสำเร็จในการส่งเสริม โดยชี้แจงปริมาณไฟฟ้าที่จำหน่ายได้จริงจากเชื้อเพลิงแต่ละชนิด จึงไม่ทราบว่าที่ผลิตได้จริงๆ คือเท่าไร และที่ผลิตไม่ได้เกิดจากปัญหาใด

 

3. การเมืองเข้าแทรกแซงพลังงานของประเทศไทย รวมทั้งพลังงานทดแทนไม่เกิดการพัฒนาเท่าที่ควร ดังนั้น ควรมีหน่วยงานที่ปลอดจากนักการเมืองมาบริหารจัดการพลังงานทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาเป็นผู้กำหนดอัตราส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าที่เป็นธรรม

 

4. ราคาเชื้อเพลิงชีวมวลทั้งในและต่างประเทศผันผวน ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นแบบกู่ไม่กลับ ทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวลที่กำลังจะสร้างต้องติดเบรกกันแทบไม่ทัน โดยราคาเชื้อเพลิงชีวมวลที่ผู้ประกอบการรายใหม่ยอมรับได้อยู่ที่ไม่เกิน 700 บาทต่อตัน แต่ในนาทีนี้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 1,000 บาทต่อตัน ที่ค่าความชื้นประมาณ 20% จึงทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะแจ้งเกิดใหม่อาจไม่เกิดกันหมด

 

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าชีวมวลเดิมๆ ที่ไม่มีเชื้อเพลิงของตนเองก็กำลังจะปิดตัวลง ไม่เพียงเท่านั้น ราคาชีวมวลอัดแท่ง (Biomass Pellet) ในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นแบบไม่เคยลดลงตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ราคา FOB ใกล้ๆ 160 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทยมองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้วเรื่องแบบนี้ผู้กำหนด FIT/Adder ได้ทราบหรือไม่?

 

ก่อนที่จะสิ้นเสียงเสนอแนะจากภาคเอกชนก็มีระฆังช่วย เมื่อสำนักงานพาณิชย์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม มีหนังสือด่วนถึงท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2557 เรื่อง "คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยเรื่องการปรับปรุงการอุดหนุนในสาขาพลังงานหมุนเวียน" สรุปแบบคนทั่วไปเข้าใจได้ก็คือ มาตรการส่งเสริมแบบ Feed-in Tariff ที่มีราคาคงที่ตลอด 20 ปีในยุโรปล้มเหลว เนื่องจากเป็นการบิดเบือนตลาด ราคาพลังงานควรปรับตามภาวะเศรษฐกิจและตามราคาตลาด ดังนั้น ทางสหภาพยุโรปจึงหันมาพิจารณาการใช้แบบ Premium ซึ่งคล้ายกับ Adder ในประเทศไทยปัจจุบัน

 

ถึงแม้เรื่องนี้จะเกิดขึ้นมาหลายเดือนแล้วก็ตาม บุคคลในวงการส่วนใหญ่ทราบดี แต่เกรงว่าทางผู้มีอำนาจในการกำหนดการอุดหนุนจะลืมนำเรื่องนี้มาพิจารณา หากถามภาคเอกชนว่าวันนี้วันที่เราจะมาช่วยกันปฏิรูปพลังงาน หน่วยงานใดควรเข้ามาดูแลการกำหนด Adder/FIT? หากคิดไม่ออก ขอเสนอให้ กกพ. (ERC) หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยมี 3 การไฟฟ้าฯ ร่วมเป็นคณะกรรมการ และอย่าลืมขอที่นั่งให้สภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าฯ ด้วยก็แล้วกันนะครับท่านประธาน คสช.